วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

รู้จักระบบลูกผสม“ไฮบริด”

 มาทำความรู้จักกับระบบไฮบริดกันอีกสัก หน่อยว่า จริงๆ แล้วระบบที่เรียกกันว่า ไฮบริด นั้นมีกี่ประเภทและแต่ละประเภทนั้นเป็นอย่างไร จากข้อมุลที่โตโยต้านำเสนอ


            1. ระบบไฮบริดแบบ อนุกรม (Series Hybrid)
       

       ระบบนี้เครื่องยนต์จะไปหมุนเจเนอเรเตอร์ เพื่อก่อกำเนิดพลังงานไฟฟ้า จากนั้นพลังงานไฟฟ้าก็จะไปทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าหมุนและส่งต่อกำลังไปหมุนล้ออีก หนึ่งทอดเพื่อทำให้รถวิ่ง ลักษณะการทำงานเหมือน หัวรถจักรของรถไฟ
       ข้อดีของระบบนี้ไฮบริดแบบอนุกรมก็คือ สามารถทำให้เครื่องยนต์กำลังต่ำทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าอีกทั้งยังช่วยชาร์จ ไฟแบตเตอร์รี่ไปด้วยในตัว
     
       2. ระบบไฮบริดแบบ คู่ขนาน (Parallel Hybrid)
       

       ระบบคู่ขนาน ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะขับเคลื่อนหมุนล้อไปพร้อมๆ กัน (เป็นที่มาของชื่อเรียก คู่ขนาน) โดยที่กำลังขับเคลื่อนจากแหล่งพลังงานทั้ง 2 ชนิดจะถูกนำมาใช้ตามสถานการณ์ต่างๆ เท่าที่รถต้องการในเวลานั้น และมอเตอร์จะใช้กำลังไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่ซึ่งการชาร์จไฟจะมาจากการเปลี่ยน มอเตอร์ไฟฟ้าให้ทำงานเป็นเจเนอเรเตอร์ ในขณะที่รถเบรก
     
       ข้อดีคือ เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน เรียกใช้พลังงานได้เยอะ แต่ข้อด้อยคือ ไม่สามารถส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อได้ขณะที่ทำการชาร์จไฟฟ้าในคราวเดียวกัน เพราะว่าระบบนี้มีมอเตอร์เพียงตัวเดียวในการทำงาน 2 หน้าที่


            3. ระบบไฮบริดแบบอนุกรม/คู่ขนาน
     
       ระบบนี้รวมเอาข้อดีระบบไฮบริดทั้ง 2 แบบเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งรถไฮบริดของโตโยต้าจะเลือกใช้ระบบนี้รวมถึง รุ่น คัมรี่ ไฮบริด ด้วย โดยระบบดังกล่าวนี้ โตโยต้า เรียกว่า THS
     
       การทำงานของระบบจะขึ้นอยู่กับสภาวะการขับขี่ว่าจะต้องการใช้กำลังจาก มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว(ข้อดีของแบบอนุกรม) หรือจะใช้กำลังขับเคลื่อนจากทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ (ข้อดีของแบบคู่ขนาน) นอกจากนั้น ระบบนี้ยังสามารถส่งกำลังขับเคลื่อนไปยังล้อต่างๆ ได้ แม้ในขณะที่เจเนอเรเตอร์สร้างกระแสไฟฟ้า


            สำหรับ ข้อดีของระบบไฮบริด อันดับ 1 แน่นอนคือ ด้านการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง พร้อมกับลดมลพิษจากการปล่อยไอเสีย ลดเสียงรบกวนขณะขับขี่ รวมถึงการมีอัตราเร่งที่ราบรื่นไม่ติดขัดจากการผสานการทำงานของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งหากใครคิดจะคบหาศึกษาข้อมูลสักหน่อยแล้วคุณก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก


   

ที่มา : www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น