วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

จุดเริ่มต้นของนักเล่นเครื่องเสียง

ทุกวันนี้มีเครื่องเสียงมากมายหลายยี่ห้อผลิตออกมาให้นักเล่นไว้เสียเงินซื้อ และรองรับกับตลาดหลายระดับตั้งแต่โลว์-เอนด์ มิดเอนด์ จนถึงไฮเอนด์นักเล่นเครื่องเสียงมือเก่าคงไม่มี ปัญหาในเรื่องที่จะเลือกซื้อหรืออัพเกรด ชุดเครื่องเสียงว่าจะซื้อหรือจะเปลี่ยนลำโพงอะไร แอมป์อะไร ครื่องเสียงซีดีแบบไหน แม้กระทั่งสายสัญญาณหรือสายลำโพงตัวโตจึงจะเข้าชุดกับเครื่องที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นมือใหม่การเลือกซื้อเครื่องเสียงเหมือนกับเดินเข้าไปในเขาวงกต ยิ่งอ่านหนังสือเครื่องเสียง ยิ่งสับสนว่าจะเลือกซื้อยี่ห้ออะไรแบบไหน เพราะมีตัวเลือกยิ่งมาก ก็มีหลายข้อให้เลือก



ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อเครื่องเสียงสักชุด นอกจากจะศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ของสินค้าแล้ว สิ่งที่นักเล่นต้องรู้กันด้วยว่าตัวเราเองนั้นชอบอะไรแบบไหน สำหรับบทความนี้มือเก่าในเรื่องเครื่องเสียงอาจจะผ่านไปเลยก็ได้นะครับ เพราะผมตั้งใจที่จะปูพื้นให้ผู้อ่านที่เป็นมือใหม่ที่เป็นมือใหม่ มีความเข้าใจตรงกันก่อน เหมือนการปรับฐานด้านความคิดให้มีเท่ากัน เมื่ออ่านในบทความต่อ ๆ ไปก็จะสามารถทำความเข้าใจได้ตรงกัน และง่ายที่จะทำความเข้าใจเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเล่นเครื่องเสียงอย่างถูกวิธีระบบ จะได้ไม่มีปัญหาที่พบบ่อย ๆ คือ "ทำไมฟังที่ร้านแล้วเสียงดี แต่พอยกกลับมาฟังที่บ้านเสียงที่ได้ไม่เหมือนกับฟังที่ร้าน"

บทความนี้ผมจะเริ่มจาก Sound system ก่อนว่า ในชุดเครื่องเสียงของเรา เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งไหนเป็นลำดับแรกแต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจว่าชุดเครื่องเสียงประกอบด้วยอะไรก่อน

ลำโพง
แหล่งขยายสัญญาณ เช่น อินติเกรตแอมป์ หรือเพาเวอร์แอมป์+ปรีแอมป์
แหล่งกำเนิดโปรแกรม เช่น เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องเล่นเทป เครื่องรับคลื่นวิทยุ
สายเชื่อมสัญญาณและสายลำโพง

Sound system ส่วนใหญ่ก็จะมีอุปกรณ์หลัก ๆ ดังที่กล่างไปแล้วถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งไปก็ไม่สามารถจะฟังเพลงหรือดนตรีใด ๆ ได้ ถ้าถามผมว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากน้อยกว่ากันผมให้ความสำคัญที่สี่หัวข้อเท่าเทียมกัน ผมมีความเชื่อว่าอุปกรณ์หลักนั้น ถ้ามีส่วนใดด้อยคุณภาพไปตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำให้ชุดเครื่องเสียงของเราแสดงศักยภาพได้ไม่เต็มที่ หมายความว่า ต่อให้นักเล่นลงทุนกับลำโพงที่ดีที่สุด แต่ถ้าใช้แอมป์ที่พอขับเสียงได้ คุณก็ไม่สามารถได้ยินเสียงที่ดีที่สุดของแหล่งดนตรีนั้น ๆ จากลำโพงที่คุณลงทุนไป หรือถ้าลงทุนกับลำโพงกับแอมป์ที่มีคุณภาพ แต่แหล่งกำเนิดโปรแกรมของคุณเป็นเครื่องเล่นจากจีนแดงราคาถูก ก็คงไม่สามารถถ่ายทอดเสียงที่ดีออกมาได้เช่นกัน

แต่ว่าในชุดเครื่องเสียง "ลำโพง" เป็นตัวเดียวที่จะแสดงบุคลิกของเสียงได้ชัดเจนที่สุด มีนักเล่นเจนจัดท่านหนึ่งบอกว่าการเปลี่ยนลำโพง เท่ากับการเปลี่ยนบุคลิกของเสียงที่เราจะได้จากชุดเครื่องเสียงเดิม ๆ ของเรา ดังนั้น ถ้าจะอัพเกรดการอัพเกรดลำโพงจึงได้เสียงที่เปลี่ยนไป แต่ผมมีความเห็นที่แตกต่างกันคือการอัพเกรดลำโพงกับชุดที่มีอยู่แล้วนี้ ไม่ใช่การอัพเกรดเพื่อคุณภาพที่ดีขึ้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางของเสียงจากชุดเดิมต่างหาก ลำโพงมีความสำคัญมากสำหรับการเลือกซื้อชุดเครื่องเสียงของมือใหม่เพราะการเลือกลำโพงที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้เล่นก็จะทำให้เราไม่มีความสุขกับเสียงที่ได้ยิน เพราะบุคลิกของลำโพงมีผลมหาศาลในเรื่องรสนิยมต่อการฟัง เช่น ถ้าคุณชอบฟังเพลงร็อค แต่คุณกลับไปซื้อลำโพงที่ไม่ค่อยมีเสียงเบสเครื่องเสียงของคุณก็อาจจะตอบสนองความต้องการนี้ไม่ได้ หรือถ้าคุณชอบฟังเพลงป๊อปหวาน ๆ คุณเลือกลำโพงที่ขับเสียงเบสเยอะ ๆ ต่อให้ใช้ลำโพงราคาแพง เสียงคุณต้องการก็ไม่เกิด

ส่วนใหญ่ผู้ผลิตลำโพงจะมีเทคนิคในการทำลำโพงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ วงจรตัดความถี่ การสร้างตู้ การบุภายในล้วนแล้วแต่ให้บุคลิกที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละเทคนิคก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ออกแบบว่าเน้นรับใช้คนกลุ่มไหนบ้าง สำหรับผม จะแนะนำให้มือใหม่ในการเล่นเครื่องเสียงเลือกซื้อลำโพงเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะซื้อแอมป์หรือเครื่องเล่นที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง เพราะลำโพงจะแสดงบุคลิกที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดออกมา โดยเฉพาะแนวเสียงที่เป็นรสนิยมที่คุณชอบเมืองเราเลือกลำโพงได้แล้วค่อยหาแอมป์มาจับคู่กับลำโพง ซึ่งจะง่ายกว่าซื้อแอมป์ก่อนแล้วค่อยซื้อลำโพง เพราะบางครั้งลำโพงที่มีค่าความไวต่ำ เรายังพอหาแอมป์ที่มีกำลังขับสูง ๆ มาขับได้แต่ถ้าเราซื้อแอมป์มาก่อน แอมป์ตัวนั้นมีกำลังขับ 50 วัตต์ ลำโพงที่เราต้องการจะจำกัดตัวเลือกลงไปมาก เท่ากับว่าเราจะเลือกได้เฉพาะลำโพงที่มีค่าความไวที่ค่อนไปทางสูง ซึ่งเราอาจจะหาลำโพงเสียงที่เราถูกใจไม่ได้เลย

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับลำโพงที่มือใหม่ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะซื้อทุกครั้ง

Frequency response : ค่าความกว้างในการตอบสนองความถี่เสียง ลำโพงในปัจจุบันมักเน้นค่านี้กันมาก โดยให้มีความกว้างของการตอบสนองความถี่ทุกย่านเสียง
Recommended amplifier power : คำแนะนำกำลังขับของแอมป์ที่ให้ผลดีที่สุดกับลำโพง เช่น บางเจ้าจะแนะนำว่าความใช้แอมป์ที่มีกำลังขับระหว่าง 20-80 วัตต์ เป็นต้น ผู้ซื้อจะสามารถหาแอมป์ที่มีกำลังขับตามสเปคนี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องแอมป์จะขับลำโพงนั้น ๆ ไม่ออกได้
Sensitivity : ผู้ผลิตบางรายอาจจะไม่ได้ให้คำแนะนำเรื่องกำลังขับต่ำสุดหรือสูงสุดมา แต่ค่าความไวของลำโพงจะทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าลำโพงตัวนี้บริโภควัตต์แค่ไหน เช่น ลำโพง A มีค่าความไวที่ 87dB ต่อเมตร หมายความว่าลำโพง A อาจจะต้องใช้แอมป์ที่มีกำลังขับไม่ต่ำกว่า 50-100 วัตต์ นั่นเอง ส่วนลำโพง B มีค่าความไวที่ 90dB ต่อเมตร แสดงว่ามีค่าความไวค่อนข้างสูงผู้เล่นสามารถใช้แอมป์หลอดกำลังขับสัก 10-20 วัตต์ มาเล่นก็ขับลำโพงชนิดนี้ได้
Impedance : ค่าความต้านท่านของลำโพง ลำโพงส่วนใหญ่จะมีค่าความทานที่ 4 Ohms, 6 Ohms และ 8Ohms

ค่าสำคัญที่ต้องทราบก็มีคร่าว ๆ ประมาณนี้ครับส่วนค่าอื่น ๆ เช่นลำโพงมีขนาดเท่าไหร่ ลำโพงรุ่นนี้เป็นแบบสองทางหรือสามทางเป็นแบบไบไวร์ หรือซิงเกิลไวร์ ทวีตเตอร์ทำจากวัสดุอะไรคงต้องศึกษากันเองนะครับ แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่ผู้เล่นต้องศึกษาก็คือ 4 ตัวที่ว่านี้ เมื่อได้ค่าของลำโพงแล้วเราจึงสามารถตัดสินใจได้ว่าจะต้องเล่นแอมป์แบบไหนอย่างไรซึ่งเราจะเลือกซื้อแอมป์ได้อย่างลงตัว

สำหรับคนที่หลงใหลแอมป์หลอดวัตต์ต่ำ ๆ อาจจะเป็นกลุ่มคนที่หาลำโพงคอมเมอร์เชียลเล่นยากที่สุด เพราะในปัจจุบันผู้ผลิตหันไปผลิตลำโพงประเภทดูหนังกันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งทำให้คนชอบเสียงจากแอมป์หลอดต้องขวนขวายหาลำโพงที่มีค่าความไวสูงมาใช้ได้ยาก บางครั้งหาได้แต่เสียงก็ไม่ถูกใจก็มีเยอะ ครั้นจะหาซื้อลำโพงที่มีความไวระดับ 95-100 dB อาจจะต้องเจอราคา ลำโพงมหาโหดก็เป็นได้ ซึ่งจุดนี้มีสองทางเลือกครับ ทางแรก คือหาแอมป์หลอดที่เป็นแบบพุชพูล ซึ่งให้กำลังขับได้มากตั้งแต่30-60 วัตต์ (กำลังแอมป์หลอดมากกว่าแอมป์โซลิตสเตด) เท่านี้ก็มีความสุขกับลำโพงเสียงถูกใจกับแอมป์หลอดได้แล้ว

ทว่าบางคนไม่ชอบแอมป์แบบพุชพูล ชอบแอมป์ซิงเกิลเอนด์ที่มีกำลังขับน้อย ๆ ถึงจุดนี้นักเล่นอาจจะต้องเลือกที่สร้างลำโพงความไวสูงขึ้นมาฟังเองเสียแล้ว ดังนั้น ทางเลือกที่สองนี้อาจจะดูหนักหนาแต่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงหลอดที่ชอบความนุ่มของเสียงแล้ว แอมป์กำลังขับน้อย ๆ คือสวรรค์ดี ๆ นี่เอง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น