ท่านที่ต้องการซื้อรถมือสองหรือรถใหม่ก็แล้วแต่ ควรรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเองเสียก่อนว่าจะนำรถไปใช้เพื่อวัตถุ ประสงค์อะไรปัจจัยต่อไปที่เราจะพูดถึงก็คือ การพิจารณาในการเลือกซื้อรถมาใช้ ควรดูว่ารถที่เราจะขับเป็นรถยี่ห้ออะไร และมีศูนย์บริการหรือบริการหลังการขายอย่างไร อะไหล่มีราคาถูกหรือราคาแพงและหาได้ง่ายหรือไม่ เพราะรถมือสองอาจจะต้องมีการซ่อมหลังจากการซื้อมามากหน่อย ซึ่งถ้าเป็นรถทางค่ายยุโรปอาจจะมีปัญหาเรื่องการหาอะไหล่ราคาถูกได้ยาก หรืออาจจะต้องรออะไหล่นาน สิ่งเหล่านี้สามารถดูได้จากความนิยมในการใช้ทั่วๆ ไป ถ้ามีความนิยมใช้มากอะไหล่ก็จะหาได้ง่ายและมีราคาถูก ดูปีที่ผลิตรถว่ารถเก่าไปไหม หรือจะใช้ได้อีกนานหรือไม่ ดูว่าหากต้องการขายต่อ ยังพอได้ราคาอยู่หรือเปล่า ดูเลขกิโลเมตรกับปีรถว่าเหมาะสมกันหรือไม่ ซึ่งเรากำลังจะกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ ต่อไปนี้ครับ
1. การตรวจเช็คสภาพภายนอกของรถยนต์ คือ การดูตัวถังภายนอกและการดูสีของรถยนต์ การดูสีของรถยนต์ควรดูที่สว่างๆ แต่ไม่ใช่กลางแดดจัด ให้มีแสงพอสมควร เริ่มจาก
1.1 ยืนในต่ำแหน่งหน้ารถ แล้วนั่งลงมองในระดับฝากระโปรงหน้าทั้งด้านซ้าย และด้านขวาดูเส้นขอบตรงหน้ารถไปจรดท้ายที่เป็นเส้นตรงว่ารอยหรือเส้นขอบ ต่างๆ ผิดเพี้ยนหรือไม่ถ้าดูแล้วมีรอยยุบของเส้นขอบต่างๆ ที่ไม่ต่อเนื่องสันนิษฐานได้ว่ารถคันนี้ได้มีการทำสีมาแล้ว
1.2 เดินดูรอบรถโดยดูเส้นขอบของประตูเป็นแนวเดียวกันหรือไม่ มีรอยโค้ง รอยนูนหรือเว้าหรือไม่
1.3 ดูช่องว่างระหว่างประตูแต่ละบานว่าเหมาะสมกันหรือไม่
1.4 ดูตัวถังว่ามีการโป๊วสีมาหรือไม่ โดยการใช้นิ้วดีดหรือเคาะเพื่อทำการฟังเสียง โดยทำรอบๆ ตัวรถบริเวณที่มีเสียงทึบมีโอกาสเป็นไปได้ว่ารถได้มีการทำสีมาก่อน เสียงที่ดีต้องเป็นเสียงป็อกๆ ถือว่าใช้ได้
1.5 ต่อไปให้ดูว่าผิวสีเรียบเป็นปรติเหมือนกันทั้งคันหรือไม่ เพราะถ้าผิวสีที่มีรอยนูนหรือเว้า หรือลักษณะของสีที่แตกต่างกัน
1.6 ดูส่วนประกอบรอบๆ รถ เพื่อที่จะบอกได้ว่าเจ้าของเก่ามีการใช้รถเป็นอย่างไร
2. การดูภายในห้องเครื่องยนต์ เปิดฝากระโปรงหน้าขึ้น เริ่มจาก
2.1 ดูที่คานหน้าหม้อน้ำ ทั้งด้านบนและล่าง รูน๊อตยึดต่างๆ กลมเป็นปรกติหรือไม่
2.2 ดูสภาพของสีกลมกลืนทั้งห้องเครื่องยนต์หรือไม่ ถ้าสีเหมือนกันแต่พ่นใหม่อาจจะมีการยกเครื่องออกมา เพื่อทำการซ่อมตัวถังหรือซ่อมเครื่องยนต์
2.3 ดูตะเข็บรอยต่อเป็นปรกติ เหมือนกันทั้ง 2 ข้าง
2.4 ดูซุ้มล้อหน้าซ้าย,ขวา สังเกตสติ๊กเกอร์ NAME PLATE ว่ามีหรือไม่ สภาพเป็นปกติหรือเปล่า
2.5 ดูร่องน้ำไหล ทั้งซ้ายและขวา ง่ามีรอยบุบหรือคดบ้างหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ จะบ่งบอกถึงการเกิดอุบัติเหตุหรือเพียงแค่ทำสีใหม่เท่านั้นควรดูให้ดี
3. การดูเครื่องยนต์
3.1 คราบหรือร่องรอยของการรั่วซึมของน้ำมันเครื่อง
3.2 ตรวจสอบระดับน้ำมันเบรก, คลัทช์, น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ สีต้องเป็นปกติและสะอาด
3.3 ระดับน้ำยาหล่อเย็น จะต้องอยู่ในระดับที่กำหนด
3.4 ระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ สีและกลิ่นของน้ำมัน
3.5 ระดับน้ำมันเครื่องจะต้องอยู่ในระดับที่กำหนด สีและกลิ่นต้องอยู่ในสภาพที่ดี
3.6 สภาพของสายพานต่างๆ จะต้องไม่แตกร้าว ความตึงพอเหมาะ
3.7 ตรวจหม้อน้ำ,ฝาปิดหม้อน้ำ จะต้องไม่รั้วและมีน้ำอยู่ในระดับที่พอเหมาะ
3.8 สภาพของสายไฟในห้องเครื่องยนต์ จะต้องจัดเก็บเรียบร้อย
3.9 แบตเตอร์รี่จะต้องไม่บวม ขั้วแบตเตอร์รี่สภาพดี และดูอายุของแบตเตอร์รี่,สภาพของน้ำกลั่น
3.10 ติดเครื่องฟังเสียงของเครื่องยนต์ว่าผิดปกติหรือไม่ และจะติดเครื่องได้โดยง่าย
3.11 เมื่อเครื่องยนต์ติดแล้วสังเกตเสียงว่าผิดปกติหรือไม่ เครื่องยนต์เดินเรียบหรือเปล่า
3.12 ตรวจการรั่วของกำลังอัด ดูไอน้ำมันเครื่อง โดยดึงก้านวัดน้ำมันขึ้นมาดูว่ามีควันหรือกลิ่นไหม้ ถ้าไม่มีถือว่าใชได้ และจะต้องไม่มีแรงดัน ดันออกมาทางด้านก้านวัดน้ำมันด้วย
3.13 เดินไปท้ายรถสังเกตควันที่ออกจากท่อไอเสีย จะต้องไม่ขาวและดำ ถ้าผิดปกติแสดงว่าเครื่องยนต์ทำงานบกพร่อง อาจจะต้องมีการทำเครื่องยนต์ใหม่
4. การดูห้องโดยสาร
4.1 แผงหน้าปัทม์ ดูไฟเตือนต่างๆ ขณะเปิดสวิทซ์กุญแจ ต่อจากนั้นสตาร์ทเครื่อง ไฟเตือนต่างๆ จะต้องดับลง
4.2 ระบบเครื่องเสียงใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
4.3 ระบบปรับอากาศ อุณหภูมิของลม การปรับตั้ง Mode, Fan, Temperature ทำงานได้ดีหรือเปล่า
4.4 ไฟส่องสว่างภายในรถ เช็คสัญญาณไฟเลี้ยว, ไฟสูง ว่าติดที่หน้าปัทม์หรือไม่ขณะทำการเปิด
4.5 กระจกหน้าต่างทุกบานปิดสนิทหรือไม่
4.6 เบาะนั่งอยู่ในสภาพใช้งานได้เป็นปกติสามารถทำการปรับตั้งได้หรือไม่
*โดยรวมสภาพของห้องโดยสาร จะต้องสัมพันธ์กับอายุของรถ เลขกิโลเมตร่าเหมาะสมกันหรือไม่
5. ดูห้องเก็บสัมภาระท้ายรถ การดูคล้ายๆ กับห้องเครื่องยนต์
5.1 รอยตะเข็บต่างๆ ,รอยเชื่อม,รอยบัดกรี จะต้องไม่ผิดเพี้ยนจากจุดใกล้เคียง
5.2 ร่องรอยการทำสี ว่ามีสีที่ดูใหม่กว่าจุดอื่นหรือไม่
5.3 รางน้ำฝากระโปรง ต้องไม่เสียรูป
5.4 ถ้าเป็นรถเก๋งควรเปิดพรมท้ายรถดูว่ามี เครื่องมือ, ยางอะไหล่อยู่หรือเปล่า และตรวจดูว่ามีน้ำขังอยู่หรือไม่ ถ้ามีอาจเกิดจากการรั่วของรอยตะเข็บบริเวณรางน้ำของฝากระโปรงท้ายได้
6. ตรวจสอบช่วงล่าง โดยรถยนต์กับที่
6.1 กดรถทางด้านหน้าและหลัง เพื่อดูการทำงานของโช๊คอัพจะต้องไม่แข็งและเด้งเร็วเกินไป และดูว่ามีคราบน้ำมันจำนวนมากที่บริเวณโช๊คอัพหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าน่าจะชำรุด
6.2 ดูยางทั้ง 4 เส้นว่าสภาพของดอกยางมีการสึกหรอสม่ำเสมอหรือไม่ ถ้าไม่สม่ำเสมอแสดงว่าช่วงล่างและศุนย์ล้อน่าจะมีปัญหาสังเกตยางมีการปริแตก หรือฉีกขาดหรือเปล่า ยางยี่ห้อเดียวกันและรุ่นเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ เพราะยางแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น จะมีการออกแบบมาใช้งาน และการบรรทุกจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการผลิตของยางยี่ห้อนั้นๆ ถ้าใช้ยางผิดประเภทจะทำให้เกิดอันตรายได้
6.3 ระยะฟรีพวงมาลัยจะต้องมีเล็กน้อย ถ้ามากเกินไปเป็นไปได้ว่า ลูกหมากจะมีปัญหา
6.4 ถ้าสามารถทำการตรวจสอบใต้ท้องรถได้ ให้ดูว่ามีการผุกร่อนของตัวถังบริเวณใต้ท้องหรือไม่ แซสซีส์ต้องตรงไม่การ บิดเบี้ยว ผุ หรือทีรอยเชื่อมที่เกิดจากการหักของแซสซีส์
7. การทดสอบโดยการขับขี่ ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกขับตามสภาพถนนหลายๆ แบบ
7.1 ทดสอบระบบรองรับว่าทำงานได้ดีหรือไม่ เช่นโช๊คอัพ, สปริง, แหนบ ขณะทำการวิ่งทดสอบว่ามีเสียงดังเกิดจากช่วงล่างหรือไม
7.2 ขณะทำการเร่งเครืองยนต์ มีเสียงดังเกิดขึ้นผิดปรกติหรือไม่
7.3 ขณะรถวิ่งมีเสียงเข้ามาในห้องโดยสารมากน้อยเพียงใด
7.4 เวลาวิ่งด้วยความเร็วสูงรถควรมีการเกาะถนนที่ดีพอ และจะต้องไม่มีอาการส่ายหรือโครงไปมา
7.5 ทดลองเลี้ยวซ้ายและขวาดูว่า ช่วงล่างเกิดเสียงดังหรือไม่
7.6 การทำงานของเบรกระบบ ABS ทำงานเป็นปกติหรือไม่ โดยทำงานของเบรก ABS ขณะเบรกแบบกระทันหันจะมีการเคลื่อนตัวขึ้นลงแป้นเบรกเป็นระยะ ในขณะที่ไม่ได้ถอนเท้าออกจากแป้นเบรก ถ้ามีแสดงว่าเป็นปกติ
7.7 ทดสอบศูนย์ขณะรถวิ่ง ว่าดึงไปมาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ และพวงมาลัยตรงพอดีหรือไม่
7.8 การตัดต่อของคอมเพรสเซอร์แอร์ขณะขับขี่มีเสียงดังเป็นปกติหรือไม่ หากมีเสียงดังเกินไปอาจเกิดจากลูกปืนคลัทช์หน้าคอมเพรสเซอร์แอร์ชำรุด
7.9 หลังจากขับทดสอบแล้วให้ติดเครื่องทิ้งไว้สักครู่ เพื่อดูความผิดปกติอีกครั้ง
8. การดูเอกสารเล่มทะเบียนรถยนต์
เราจะรู้ประวัติของรถยนต์เบื้องต้นได้โดยการตรวจสอบดูจากเล่มทะเบียนรถยนต์ จะทำให้ทราบว่ารถคันนี้ผ่านการใช้งานมาแล้วกี่ราย มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์และสีของรถยนต์หรือเปล่า ควรเลือกซื้อรถที่ผ่านการใช้งานมามือเดียว หรือจากเจ้าของคนเดียว จะช่วยให้เราสามารถซักถามประวัติการใช้รถได้ เอกสารที่ควรใส่ใจมากที่สุด คือสมุดจดทะเบียนไม่ควรมีการแก้ไขโดยไม่มีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ขนส่ง กำกับ หากสมุดจดทะเบียนมีข้อน่าสงสัยไม่ควรทำการซื้อขายรถคันดังกล่าว
แต่พอจะสรุปสุดท้ายก็คงต้องดูที่ราคาว่าเหมาะสมกับรถไหม เพราะการซื้อรถมือสองก็ต้องดูตามสภาพความเป็นจริงว่าสภาพรถขนาดนี้ ราคาก็น่าจะอยู่ประมาณนี้ เพราะถ้าจะเอารถมือสองคุณภาพเทียบเท่ารถใหม่ จะให้ราคาถูกก็คงหาได้ยากหรือหาไม่ได้เลย เพระาฉะนั้นควรระลึกไว้ด้วยว่าของถูกและดีไม่มีในโลก ควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับราคาตามสภาพรถ และวัตถุประสงค์ของการใช้งานครับ
จาก http://www.phithan-toyota.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น